วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การขุดหาพระรอด พระเปิมลําพูน

วัดมหาวัน (มหาวนาราม) ได้มีการขุดหาพระรอดกันหลายครั้ง
หลายหน จนประมาณครั้งมิได้เท่าที่สืบทราบได้มาดังต่อไปนี้
-การพบกรุพระรอดในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕- ๒๔๔๕ พระเจดีย์มหาวันชำรุดทรุดโทรมและพังทลายลงมาเป็นส่วนมากดังนั้น เจ้าเหมพินธุไพจิตรจึงดำริให้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยการสร้างสวมครอบองค์เดิมลงไป และเศษที่ปรักหักพังที่กองทับถมกันอยู่นั้น ได้จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างหอสมุดของวัด ได้พบพระรอดเป็นจำนวนมากมายในกรุเจดีย์มหาวันนั้น พระรอดส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุกรุกลับคืนเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม อีกส่วนหนึ่งมีผู้นำไปสักการบูชา และส่วนสุดท้ายนั้นปะปนกับซากกรุ และเศษดินทรายจมอยู่ในหนองน้ำดังกล่าว

-การพบพระรอดในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ครั้งนั้น เจ้าหลวงอินทยงยศได้พิจารณาเห็นว่า มีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกตรงบริเวณฐานพระเจดีย์มหาวัน และรากชอนลึกลงไปภายในองพระเจดีย์มหาวัน ทำให้มีรอยร้าว ชำรุดหลายแห่ง จึงใช้ช่างรื้อฐานรอบนอกพระเจดีย์ออกเสียและปฏิสังขรณ์ใหม่ การกระทำครั้งนี้ได้พบพระรอด ซึ่งเจ้าเหมพินธุไพจิตรรวบรวมบรรจุไว้ในคราวบูรณะครั้งใหญ่นั้น เป็นจำนวน ๑ กระซ้าบาตร (ตะกร้าบรรจุข้าวตักบาตร) ได้นำมาแจกจ่ายบรรดาญาติวงศ์ (เจ้าหลวงจักคำ ขจรศักดิ์ ผู้เป็นบุตร ในสมัยนั้นยังเป็นหนุ่ม ก็ไดรับพระรอดจากพ่อไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นมรดกตกทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ และทั้งได้จัดพิธีสร้างพระรอดรุ่นใหม่ขึ้นบรรจุไว้แทน ส่วนฐานพระเจดีย์ที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นั้น ก็ยังให้ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม

-การขุดหาพระรอดในฤดูแล้ง นับแต่สมัยปฏิสังขรณ์มหาวันเจดีย์เป็นต้นมา นับวันยิ่งปรากฏมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ในคุณวิเศษของพระรอดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะคุณวิเศษของพระรอด เป็นมหัศจรรย์อย่างสูงแก่ผู้ที่มีไว้สักการบูชา จึงมีผู้พากันขุดหาพระรอดกันภายในบริเวณอุปาจารของวัด ตรงบริเวณที่เคยเป็นแอ่งน้ำ ได้พระรอดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ต่อไปก็ขยายบริเวณการขุดออกไปอย่างกว้างขวางทั่วอุปาจารของวัด และได้กระทำติดต่อกันมานานปี จนกลายเป็นประเพณีกลายๆ ของชาวบ้านลำพูน คือในฤดูแล้งภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว คือระหว่างเดือน ๔ ถึงเดือน ๖ ทุกปี จะมีชาวบ้านมาขุดหาพระรอดกันในวัดมหาวัน จนพื้นที่ของวัดเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ทางวัดจึงห้ามการขุดกันอีกต่อไป

-การขุดพระรอดในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องจากมีการปฏิสังขรณ์กุฏิเจ้าอาวาสวัดมหาวัน ในการขุดดินเพื่อลงรากฐานการก่อสร้างและใต้ถุนกุฏิ ได้พบพระรอดเป็นจำนวนประมาณ ๒๐๐ องค์เศษ ทุกองค์จัดว่าเป็นพระรอดที่เนื้องามทั้งสิ้น มีวรรณะผุดผ่องงดงามยิ่งนัก และมีหลายพิมพ์ทรงแทบจะไม่ซ้ำกันเลย ได้เริ่มขุดในมกราคม สิ้นสุดในสิงหาคม นอกจากพระรอดแล้ว ยังขุดได้พระเครื่องสกุลลำพูนอีกหลายชนิด เช่น พระคง พระบาง พระเลี่ยง พระสาม พระสิบ พระสิบสอง พระงบน้ำอ้อย พระกล้วย พระกวาง และพระแผ่นทอง เป็นต้น

-การขุดพบพระรอดในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางวัดมหาวันได้เริ่มการรื้อพระอุโบสถเพื่อปฏิสังขรณ์ ได้พบพระรอดประมาณ ๒๐๐ องค์เศษ ภายใต้พื้นพระอุโบสถนั้น พระรอดจำนวนหนึ่งได้มีผู้นำมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ในราคาสูงมาก และส่วนมากเป็นพระชำรุดและเนื้อไม่จัด ยิ่งกว่านั้น บางองค์ที่พระพักตร์ชัดเจน จะมีลักษณะพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์โปนเด่น หัตถ์มี ๖ นิ้ว

พระรอดมีพิมพ์นิยมในวงการพระเครื่อง ๕ พิมพ์ด้วยกัน คือ
๑. พิมพ์ใหญ่
๒. พิมพ์กลาง
๓. พิมพ์เล็ก
๔. พิมพ์ตื้น
๕. พิมพ์ต้อ

-พระรอดได้ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลปะในยุคกลางของสมัยหริภุญไชย (ลำพูน) อาณาจักรหริภุญไชยสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เป็นอาณาจักรของกลุ่มชนมอญโบราณทางภาคเหนือของประเทศไทย รับนับถือพระพุทธศาสนาหินยานใช้ภาษาบาลีจดจำคำสอนทางศาสนา ได้มีการกำหนดอายุสมัยและศิลปะพระรอดว่า สร้างในสมัยกษัตริย์จามเทวี เป็นยุคต้นของสมัยหริภุญไชย มีศิลปะสมัยทวารวดี ในทางพุทธศิปะแล้ว พระรอดน่าจะมีอายุ อยู่ในช่วงหลังสมัยทวารวดี รูปแบบของพระรอดคือประทับพระบาทสมาธิเพชร (ท่านั่งขัดเพชร)ในสมัยทวารวดีสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดหลวมและหงายฝ่าพระบาทกางออก และไม่ปรากฏพระพุทธรูปนั่งขัดเพชรในศิลปะทวารวดี พระพุทธรูปนั่งขัดเพชร เป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ (มหายาน) พระพุทธรูป และพระเครื่องในลำพูน ได้ปรากฏศิลปะสมัยต่างๆ รวมอยู่หลายสมัย คือ สมัยทวารวดี ลพบุรี แบบหริภุญไชย พุกาม อู่ทองและสมัยล้านนา

ประวัติความเป็นมา พระนางจามเทวี +++ประวัติการสร้างพระกรุ

ประวัติความเป็นมา พระนางจามเทวี /ประวัติการสร้างพระกรุ
-พระนางจามเทวีตอนกำเนิดเป็นเด็กหญิง “วี” ที่ท่านพระฤๅษีสุเทพได้บันทึกไว้ในสุพรรณบัตร เราสุเทพฤๅษีแห่งอุจฉุตบรรพต (เขาไร่อ้อยหรือดอยสุเทพ) ณ ระมิงค์นคร ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า “วี” มาให้มวล นิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้ กุมารน้อยนี้ พญาปักษีพามาจากบุรพนคร เราจึงช่วยชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต (ดอยคำ) ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาปักษีได้ปล่อยกุมารีตกลงมาท่ามกลางต้นปทุมสระหลวง เราจึงได้สักการะอธิษฐาน กุมารีนี้ จึงลอยขึ้นบน “วี” วันนี้ก็เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ปีมะโรง พุทธศก ๑๑๗๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๕ วันพฤหัสบดี ปีมะโรง ตรงกับเดือน ๗ เหนือ ออก ๑๕ ค่ำ ปีสีฯ

ดวงชะตาเจ้าแม่แปลกประหลาด
-ตามเกณฑ์ดวงชะตาเจ้าแม่จามเทวีแปลกประหลาด จึงได้ให้นักพยากรณ์ลองผูกดวงดู ตามทัศนของ
พระฤๅษีกล่าวว่า เกณฑ์เลขชะตาเจ็ดตัว วันกำเนิดก็ ๕ ตัว เดือนก็ ๕ ปีก็ ๕ ยังขึ้น ๑๕ ค่ำอีกด้วย กุมารนี้ประมาณชันษาได้ ๓ เดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลนามตามกำเนิดเพื่อเป็นสิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า “กุมารีนี้เป็นบุตรตรีของชาวบ้านหนองดู่ ในบุรพนคร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นหริภุญชัย) เราจึงมอบให้ กากะวานรและบริวารเลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต และได้สอนศิลปวิทยาให้จวนจบชนมายุได้ ๑๓ ปี เป็นเวลาที่กุมารีนี้จักได้มาช่วยอุปถัมภ์กำราบ อริราชศัตรู ณ แคว้นเขมรัฐ อันกุมารีนี้ยังจักเป็นคู่เสน่หาของเจ้าชาย เขมรัฐ ซึ่งเดินหลงทางพนาเวศน์ไปยังเราเมื่อ ๔ ปีโน้น จึงได้ทำพิธีประกอบนายายนต์ให้กุมารี พร้อมทั้งกากะวานร และบริวารรวม ๓๕ ตัว เดินทางโดยลำน้ำระมิงค์ถึงกรุงละโว้ฯ

-ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี เกิดที่บ้านหนองดู่ ไปโตดังที่ละโว้ (ลพบุรี) ได้มาครองเมืองลำพูนตามคำเชิญของพระฤๅษี จึงได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองลำพูน พระนางจามเทวี เป็นบุตรีของท่านเศรษฐี นามว่า อินตา มารดาชื่อว่า... เป็นชาวเม็ง (มอญ) ราษฎรบ้านหนองดู่ อำเภอซาง จังหวัดลำพูน พระนางจามเทวีเกิดเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พุทธศักราช ๑๑๗๖ ในระหว่างอายุได้ประมาณ ๓ เดือน กำลังนอนเบาะ ได้มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาจวบเอาพระนางจามเทวีขณะที่พ่อแม่ไปธุระ นกใหญ่บินเข้าจวบขึ้นบนท้องฟ้าพระนางจามเทวีได้ร่วงหล่นลงมายังกลางสระบัวหลวง ร่างของพระนางก็ค้างอยู่บนกองบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระฤๅษีเกิดไปพบเข้าจึงนึกในใจว่าทารกนี้มีเหตุการณ์อย่างประหลาดชะลอยจักไมใช่ทารกธรรมดาสามัญ เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้สัตย์อธิษฐานว่า ผิว่าทารกหญิงคนนี้ ประกอบด้วยบุญญาธิการ จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ “วี” ของเรานี้รองรับร่างของทารกไว้ได้โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด และก็น่าอัศจรรย์ยิ่งนักเมื่อเราเอา “วี” (วี แปลว่า พัด) ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อยวัย ๓ เดือน ก็สามารถอยู่บน “วี” อย่างอัศจรรย์ จึงเลยให้นามทารกนี้ว่า “หญิงวี”

-ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระฤๅษีได้จัดส่งพระนางไปตามลำน้ำปิงพร้อมกับมีวานร จำนวน ๓๕ ตัว ติดตามไปด้วย เมื่อพระนางไปถึงท่าฉนวนหน้าวัด เชิงท่าตลาด ลพบุรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี นาวายนต์ก็ลอยวนไม่เคลื่อนที่ไปทางใดจนกว่าทั้งรุ่งแจ้ง ประชาพลเมืองได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้รับแจ้งแก่เสนาบดี และก็ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว ดังกล่าว กษัตริย์ทั้งสองแห่งกรุงละโว้ ก็ทรงตื้นตันด้วยความเวทนาในธิดายิ่งนัก เสด็จมารับเอาไปเป็นบุตรธิดาอยู่ได้ ๓ วัน ก็จัดให้มีงานฉลอง และเจิมพระขวัญพระราชธิดา แต่งตั้งให้เป็นพระเอกราชธิดา แห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัตรว่า“ เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยะวงศ์ บรมราชขัติยะนารี รัตนกัญญาละวะบุรี ราเมศวร ” เป็นราชทายาทแห่งนครละโว้ ในวาระดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เมื่อสิ้นประกระแสพระราชดำรัสก็ได้ยินเสียงถวายพระพรพระธิดากันเซ็งแซ่ “พระนางจามเทวีมีพระราชดำรัสตอบว่า ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิอันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่า ข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกท่างที่จะหาความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้” เมื่อกระแสพระราชดำรัสจบลง เสียงปี่พากษ์มโหรีก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวประชาก็ถวายพระพร ขอให้เจ้าหญิงจงทรงพระเจริญ ๆ แล้วข้าวตอกดอกไม้ของหอมก็ถูกโปรยทั่วบริเวณ พระพิรุณก็โปรยปรายความชุ่มเย็นจากฟากฟ้าเป็นละอองทั่วกรุงละโว้ เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง

-เมื่อพระนางจามเทวี อายุได้ ๒๐ ปี ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ ขาวกรุงละโว้ (ลพบุรี) ก็มีประราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีหมั้นระหว่างเจ้าชายรามราชกับเจ้าหญิงจามเทวี ในวันรับหมั้นก็มีมหรสพสมโภชน์เอิกเกริก บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายก็ส่งเครื่องบรรณาการกันอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่งอันความงามของเจ้าหญิงเลื่องลือไปทุกแคว้น จนกระทั่งเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงโกสัมภี (พม่า) เกิดลุ่มหลงไม่เป็นอันกินอันนอน จนพระราชบิดาต้องแต่งเครื่องบรรณาการให้อำมาตย์เชิญพระราชสาสน์มาสู่ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ในปี ๑๑๙๖ ขณะนั้นเจ้าหญิงทรงรับหมั้นแล้ว จึงได้ปฏิเสธการรับหมั้น ฝ่ายทางกรุงโกสัมภีหาว่าละโว้บ่ายเบี่ยงก็แค้นอยู่ในใจ

พม่าเสียใจความรักไม่สมหวัง
-ในราวเดือนอ้าย ปลายปีพุทธศักราช ๑๑๙๖ พม่าเมืองโกสัมภีก็ยกทัพใหญ่ เพียบพร้อมด้วยพระประยูรญาติ ทางกาลิงครัฐก็รวมกำลังเป็นกษัตริย์เข้าบุกละโว้ ทางนครรามบุรี (ทัพกษัตริย์) คือ แม่ทัพล้วนแต่เป็นราชโอรส ราชนัตตา หรือเจ้าผู้ครองทั้งนั้น ทุกกองจะมีกองหน้า กองหลวง กองหลัง เต็มอัตราศึก แสนยานุภาพของ โกสัมภีและกาลิงครัฐก็พุ่งเข้าบดขยี้นครรามบุรีอย่างบ้าคลั่ง น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ นครรามบุรีรีบแจ้งข่าวศึกใหญ่มายังกรุงละโว้ กษัตริย์ละโว้ทรงทราบก็ตกพระทัยนั่งอึ้งมิอาจตรัสสิ่งใดได้ ทั่วท้องพระโรงเงียบกริบ

พระนางจามเทวีอาสาออกศึกสงครามกับพม่า
-ในการออกสงครามกับพม่าครั้งนี้ ทางฝ่ายบิดามารดาและพระนางต่างปรึกษาหารือกันอยู่เป็นเวลานานกว่าจะตกลงกันได้ ในที่สุดก็ตกลงมอบหน้าที่ให้พระนางจามเทวีเป็นแม่ทัพออกศึกสงครามกับพม่าเพราะพระฤๅษีสั่งว่า พระราชธิดานี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาก็แสดงว่า พระราชธิดานี้มีบุญญาธิการแก่กล้านักเห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ จึงตกลงอนุญาตและถามเจ้าหญิงว่าจะเดินทัพเมื่อไร เจ้าหญิงทูลว่าจะไปวันนี้ เจ้ากรุงละโว้ก็ให้อำมาตย์ไปอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเข้ามายังพระอารามหลวงโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อพิธีเจิมเฉลิมชัยเจ้าหญิง ฝ่ายเจ้าหญิงทรงรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพ และให้พี่เลี้ยงทั้งสองจัดทัพหน้าหญิง ๕๐๐ คน ชาย ๑๐๐๐ คน กับกากะวานรและวานรที่ติดตามมาตั้งแต่ระมิงค์นครทั้ง ๓๕ ตัว ที่เกิดใหญ่ไม่เอาให้รีบจัดก่อน เมื่อทำพิธีทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พระนางตรัสว่าเพื่อปิตุภูมิเราจะขอทำหน้าที่และยอดสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย และศึกครั้งนี้หนักนักเป็นศึกกษัตริย์อันมิควรจะพบกันบ่อยครั้งนัก บรรดาแม่ทัพของเขาล้วนแต่เป็นโอรสและราชนัดดาของนครต่างๆ ทั้งโกสัมภี และกาลิงครัฐ พระนางประกาศว่าถ้าผู้ใดมิเต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้เราจะมิเอาโทษทัณฑ์ประการใด จะปลดปล่อยทันที เมื่อรับสั่งจบบรรดาเหล่าทหารก็โห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนของปฏิญาณว่าจะขอตายเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งนั้น ทันใดนั้นท้องฟ้าก็แจ่มใสเห็นศุภนิมิตรอันดี กษัตริย์กรุงละโว้ก็ทรงมอบพระแสงอาญาสิทธิ์แก่เจ้าหญิง ทันใดนั้นธงชัยประจำตัวแม่ทัพก็สบัดชายให้เห็นพื้นธงสีฟ้าริมขาว ส่วนกลางของธงซึ่งมีรูปมงกุฎราชกุมารีลอยอยู่เหนือดวงอาทิตย์โบก สบัดอยู่ไปมาติดตามแม่ทัพอย่างกระชั้นชิด เมื่อเดินทัพมาใกล้นครเขื่อนขัณฑ์ (กำแพงเพชร) เจ้าหญิงจึงทรงอักษรไปยังเจ้ารามฯ ว่า หญิงมาช่วยแล้วขอให้เจ้าพี่ทิ้งเมืองเสียเถิด ให้อพยพชาวเมืองลงมาก่อน แล้วเจ้าพี่รับทำหน้าที่นำทัพมาพ้นเทือกเขาขุนกาฬบรรพต ในระหว่างที่มีการสู้รบกันอยู่นั้นพลเมืองต่างก็พากันหนีออกจากเมือง เมื่อทัพโกสัมภียึดนครได้ก็กลายเป็นนครร้างเสียแล้ว เพราะราษฎรอพยพกันหมดสิ้น ต่อมาแม่ทัพทั้งสองก็ได้สู้รบกันอีก จนต่างฝ่ายมีอาหารการกินร่อยหรอลงไป เจ้าหญิงก็ทรงพระอักษรขึ้น ๑ ฉบับ ส่งให้โอรสแห่งโกสัมภีว่าอันสงครามครั้งนี้เหตุก็เกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตของทวยราษฎร์ทั้งหลายจักต้องมาล้มตายกัน จะเป็นที่ครหานินทาแก่หมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่งกายทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัวให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเถิด จอมทัพแห่งโกสัมภีเมื่อรับพระราชสาสน์จากเจ้าหญิงจึงได้ทรงทราบว่าสตรีที่ตนรักเป็นจอมโยธาจะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการและก็แว่วว่าเจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษี คาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะต้องมาเป็นแม่ทัพ ต่อจากนั้นอีกสองวันทั้งสองฝ่ายก็จัดแม่ทัพออกสู้กันตัวต่อตัว ล่วงไปได้ ๖ วันในการต่อสู้ขุนศึกโกสัมภีตาย ๒ คน ละโว้ตาย ๑ คน วันที่ ๗ จอมทัพโกสัมภีจะต้องต่อสู้กันตัวต่อตัว เจ้าหญิงก็นึกถึงบิดา พระฤๅษีสุเทพ เสี่ยงสัจจะอธิษฐานในบุญกรรม และแล้ววันรุ่งขึ้นก็ย่างมาถึง วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ กลองศึกถูกรัวเร้าจังหวะ ขณะที่ทางโกสัมภีตกตลึงอยู่นี้ใยเจ้าพี่มัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใด หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกันอย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราเลย เจ้าชายได้สติจึงเอ่ยขึ้นว่า การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือว่าละโว้นั้นสิ้นแล้วหรือซึ่งผู้ชายชาตรี เจ้าหญิงตรัสว่า อันละโว้จะสิ้นซึ่งชายชาตรีนั้นหามิได้ แต่ว่าหม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อเสด็จแม่เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันสตรีก็มีใจ บุรุษก็มีใจ เผื่อว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด ถ้าเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉัน เมื่อต่างฝ่ายต่างโต้คารมกันไปมานานพอสมควรก็ใกล้เที่ยงวัน เจ้าชายโกสัมภีก็ตรัสขอเชิญเจ้าหญิงพักเหนื่อยกันก่อนเถิดเพราะบ่ายอ่อนเราจึงมาต่อสู้กันใหม่ เจ้าหญิงก็ทรงเห็นด้วย

-ครั้งแล้วเวลานั้นก็มาถึง ทั้งสองเจ้าก็เริ่มประดาบกันใหม่ภายใต้ร่มโพธิ์อันร่มรื่น เจ้าหญิงทรงยืนเป็นสง่า ทั้งคู่ต้องมาประหัตประหารกันด้วยหน้าที่ เมื่อปี่ชะวาครางขึ้น ทั้งคู่ก็เริ่มเข้าประหารกันอีก เมื่อดาบทั้งสี่เริ่มกระทบกันจากช้าเป็นเร็ว ต่างฝ่ายผลัดกันรับและรุกเป็นเวลานาน คนดูต่างใจหายใจคว่ำ ครั้งแล้วเจ้าชายก็เสียเชิงถูกพระแสงดาบเจ้าหญิงเฉี่ยวเข้าที่พระกรก็ตกใจชักม้าเบนห่าง กากะวานรเห็นดังนั้นก็พุ่งเข้าคว้าธงไชย จอมทัพโกสัมภีเข้าหักยับด้วยกำลัง ทหารทั้งปวงก็อลหม่านทั้งไพร่และนายแตกตื่นกันชุลมุน กองทัพโกสัมภีก็แตกร่นไม่เป็นขบวน ต่างชิงหนี้เอาตัวรอด ทหารละโว้ตามตีไม่ลดละจึงต้องหนีทั้งกลางวันและกลางคืน เจ้าชายแห่งโกสัมภีแค้นพระทัยเสียรู้ เสียพระทัย เสียทัพยับเยิน จะอยู่ไปใยให้ขายหน้าและสุดที่ผู้ใดจะช่วยทัน ด้วยทิฏฐิมานะแห่งขัติยะก็รงเอาพระแสงดาบเชือดเฉือนพระศอของตนเองจนสิ้นชีพตักษัย ทันใดก็มีเสียงร้องต่อๆ กันว่า เจ้าชายโกสัมภีสิ้นพระชนม์ฯ ขอให้ทหารทุกคนยอมอ่อนน้อมต่อละโว้เถิด มีเสียงบอกต่อๆ กันจนฟังให้อึงคนึงไปหมด เจ้าหญิงจึงประกาศให้ทัพปลอดอาวุธทางโกสัมภี แล้วเจ้าหญิงก็ยุติการสู้รบและให้ทั้งสองฝ่ายตรวจความเสียหาย แล้วเจ้าหญิงทรงพระบัญชาให้ทหารรีบไปเอาปรอทยังนครสุวรรณบรรพต และให้ต่อพระศอเจ้าชายโกสัมภีแล้วตรอกปรอทบรรจุพระศพเจ้าชายโกสัมภีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทหารนำศพกลับเมืองโกสัมภี เป็นอันว่าสงครามรักสะเทือนใจของประชาชนก็ยุติฯ

เสด็จสงครามเจ้าจามเทวีก็อภิเษกสมรส
-เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายสงบเรียบร้อย พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีก็ทรงดำริว่า สมควรจัดให้ราชธิดากับเจ้าชายรามทรงอภิเษกสมรส ทางเจ้ากรุงละโว้ทรงให้เขียนประกาศแจ้งไปยังหัวเมืองต่างๆ อย่าให้เมืองใดขาดได้ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีตรงกับวันข้างขึ้นเดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระนางจามเทวีกับเจ้าชายรามฯ ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มีพระราชพิธีมอบราชสมบัติ อัญเชิญเจ้ารามฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองนครกรุงละโว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญชาวละโว้ต่อไป (ต่อ)

ประวัติการสร้าง พระรอด วัดมหาวัน จังหวัด ลำพูน
โพสวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2549
-เมื่อพระนางจามเทวี ได้รับอัญเชิญให้เสด็จจากเมืองละโว้มาเสวยราชย์ ณ กรุงหริภุญไชย ซึ่งพระฤาษีสี่ตน ได้สร้างถวายขึ้นนั้นพระนางได้ทรงสถาปนาพระอาราม ประจำทวารทั้งสี่ของพระนครขึ้นเรียกว่า จตุรพุทธปราการ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระนคร ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีความร่มเย็นผาสุข ทั้งปกป้องโพยภัย จากอริราชศัตรูภายนอก และฤาษีทั้งสี่ก็ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล ต่างก็สร้างพระเครื่องของตนขึ้น และบรรจุไว้ในกรุของแต่ละพระอาราม แห่งจตุรพุทธปราการเพื่อสืบอายุพระศาสนาและ เพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร จตุรพุทธปราการนี้
ในปัจจุบันชาวบ้านนิยมกันเป็นสามัญว่า วัดสี่มุมเมือง และบรรดาพระเครื่องสกุลลำพูนของฤาษีต่างก็มีกำเนิดขึ้น ณ กรุของอารามทั้งสี่นี้ ดังคัมภีร์จามเทวีวงศ์กล่าวความไว้ว่า

"..เอวํ สา จินฺตยิตฺวาน ปาโต วุฏฐาย เสยฺยนา สิสนฺหาตา สุจิววตฺถาสพฺพาภรณภูสิตา
ปาตราสํ กริตฺวาน สีวิกายํ นิสีทิย มหนฺเตหิ ปริวาเรหิกตฺวาน ปุรํ ปทกฺขิณํ
ปาจีนทิสโต ตสฺส กตฺวารณฺญิกรมฺมกํ วิหารํ การยิตฺวา สา พุทฺธรูปณจการยิ ฯลฯ
ตโต จ อาพทฺธารามํ ตสฺส อุตฺตรทิสโต เอกํ วิหารํ กตฺวาน ลงฺการามสฺสทาสิ สา
ตโต มหาวนารามํ ตสฺส ปจฺฉิมทิสโต วิหารํ พุทธรูปญฺจ กาเตฺวา กุฏิกวรํ
ตตฺถ สงฺเฆ วสาเปสิ อนฺนปาเนน ตปฺปยิ
ตโต มหารตฺตารามํ ทกฺขิณทิสโต วิหารํพุทธรูปญฺจ กาเรตฺวา อติโสภนํ
ตตฺถ สงฺเฆ วสาเปสิ อนฺนปาเนน ภรติ มหาวิหารา ปณฺเจเต จามเทวี สยํ กเต ฯ…"

++ครั้นพระนางได้ดำริอย่างนี้แล้ว ต่อเวลาเช้าก็ลุกจากที่ไสยาสน์ ชำระศิรเกล้า แล้วทรงวัตถา สะอาดประดับอาภรณ์ทั้งปวง เสด็จทรงวอไปทำประทักษิณพระบุรีด้วยตบริวาร แล้วพระนางนั้น++

๑. ได้ให้สร้าง อรัญญิกรัมการาม (ได้แก่วัดดอกแก้ว) ในด้านปาจินทิศแห่งบุรีนั้น สร้างวิหารสร้างพระพุทธรูปด้วย แล้วถวายให้เป็นที่อยู่สงฆ์มีพระเถระเป็นประธาน

๒. ถัดนั้นไป ให้สร้าง อาพัทธาราม (ได้แก่วัดพระคง) ในด้านอุตรทิศแห่งพระบุรี ถวายให้สงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ

๓. ถัดไปนั้น ได้สร้าง มหาวนาราม (ได้แก่วัดมหาวัน) ในด้านปัจฉิมแห่งนั้น สร้างพระวิหารด้วยสร้างพระพุทธรูปด้วย กุฏิอันบวรด้วย สำหรับพระสงฆ์จำพรรษาในอารามนั้น แล้วเลี้ยงดูด้วยน้ำข้าว

๔. ถัดนั้นไป ให้สร้าง มหารัตตาราม (ได้แก่วัดประตูลี้) ในด้านทักษิณทิศแห่งบุรีนั้น สร้างพระวิหารด้วยพระพุทธรูปด้วย งดงามสุดจะเปรียบปาน ให้พระสงฆ์จำพรรษาในอารามนั้น แล้วเลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำ

++วัดมหาวัน++
-วัดมหาวัน (วัดมหาวนาราม) ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างจากประตูมหาวัน ซึ่งเป็นทวารพระนครเบื้องตะวันตก ประมาณ ๕๐ เมตร คำว่ามหาวนาราม เป็นคำสนธิของคำว่า มหาวัน กับ อาราม นั่นเอง แสดงว่าพระอารามนี้ยังคงมีนามเช่นเดิมมาตั้งแต่แรกสถาปนา เมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว อาร์ เลอเมย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวไว้ว่า “ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่า พระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาพระอารามทั้ง ๕ ขึ้นในลำพูน (รวมถึงจตุรพุทธปราการและสุสานหลวง) และแห่งหนึ่งในพระอารามทั้งนี้ได้แก่ มหาวัน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร วัดนี้ในปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับประตูด้านตะวันตก และยังคงมีนามเช่นเดิมอยู่แม้ในทุกวันนี้ ยังได้พบศิลาจารึกภาษามอญหลักหนึ่งที่วัดนี้ด้วย”

-ศิลาจารึกที่ อาร์ เลอ เมย์ กล่าวถึงนี้คือหลักที่ ๑๗๐ (ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๑ ของศาสตราจารย์เซเดส์) ซึ่งได้รับการรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑสถาน สาขาจังหวัดลำพูน รวมอยู่กับหลักต่างๆ ที่พบ ณ ที่อื่นๆ ในลำพูน สำหรับคำอ่าน และคำแปลภาษาฝรั่งเศสนั้น ท่านศาสตราจารย์เซเดส์ และอาร์ ฮอลลิเดย์ ได้ทำไว้ใน B.E.F.E.C. ฉบับที่ ๑๐ และ ๒๕ (คือฉบับเดียวกับที่กล่าวถึงศิลาจารึกของวัดดอกแก้ว และอื่นๆ ในลำพูน) สภาพของหลักที่ ๑๗๐ นี้ชำรุด อักษรลบเลือนมาก เนื้อความที่รวบรวมได้มีความกระท่อนกระแท่นมาก แต่ทราบได้ว่าเป็นจารึกของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ บอกเรื่องราวการที่พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระอารามแห่งนี้เป็นอันมาก กล่าวถึงโลหะต่างๆ ที่ใช้สร้างพระพุทธรูปเงินที่ถวายบำรุงพระอาราม

-พระเจดีย์องค์หนึ่งมีนามว่า พระเจดีย์ราชะ พระพุทธรูป ๒ องค์ ทาสที่ให้ไว้ปฏิบัติบำรุงพระอาราม อุโมงค์ และดินที่ปลูกแล้ว แม้ข้อความที่เก็บได้จะกระท่อนกระแท่น แต่หากเทียบเคียงกับตำนานมูลศาสนาอันทรงคุณค่ายิ่ง จะพบเรื่องราวตามตำนานกล่าวว่า ….ถัดนั้นยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อสรรพสิทธิ์เกิดมาได้ ๕ ขวบ เป็นพระยาแทนพ่อ เมื่อเป็นพระยาใหญ่ได้ ๗ ปี ก็ปลงสมบัติไว้ให้กับแม่ แล้วออกบวชเป็นสามเณร เมื่อใหญ่ได้ ๑๐ ปี ให้สร้างมหาวันกับทั้งเจดีย์ เมื่อเสร็จแล้วก็ฉลอง และถวายทานเป็นอันมาก แล้วสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในมหาวันนั้น เมื่อท่านมีอายุ ๑๗ ปีจึงศึกออกมาเป็นคน ก็ได้ราชาภิเษกชื่อว่าพระยาสรรพสิทธิ์นั้นแล แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าสรรพสิทธิ์บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวัน ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาวัน และพระเจดีย์ พระเจดีย์ที่ทรงปฏิสังขรณ์นี้คงจะเป็นพระเจดีย์ใหญ่ ซึ่งพระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาขึ้นนั่นเอง เมื่อผสมผสานระหว่างข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑๗๐ และตำนานมูลศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงพระเจดีย์กรุพระรอด และคำว่าอุโมงค์ คือ กรุภายในเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระรอดนั่นเอง ตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวเรื่องราวสำคัญของวัดมหาวันไว้อีกตอนหนึ่ง ในสมัยพระยาคำฟูว่า “ลูกท่านชื่อพระยาคำฟู ออกไปรบเอาเมืองตาก แพร่ ได้เข้ามาถวายแด่พ่อตนมากนัก ตั้งแต่นั้นไปพระยาคำฟูก็ต้องอยู่ในทศพิธราชธรรม แล้วไว้คนสำหรับให้กวาดลานมหาเจดีย์เจ้าด้านละคน ไว้กวาดลานพระพุทธรูปผู้หนึ่ง ไว้กวาดลานมหาโพธิ์ผู้หนึ่งในวัดมหาวันนั้น ถัดนั้นก็ได้ถวายกัปปิยการกเจ้าวัดละคน”

-คำว่า มหาเจดีย์เจ้า ในที่นี้คือ พระเจดีย์โบราณอันเป็นกรุพระรอด ซึ่งพระนางจามเทวีเจ้าได้สถาปนาไว้พร้อมกับพระอาราม ซึ่งในจารึกหลักที่ ๑๗๐ บอกไว้ว่ามีพระพุทธรูป (กยาค) ๒ องค์

-ในพระวิหารวัดมหาวัน มีพระพุทธรูปหินสลักลักษณะทำนองเดียวกับพระรอด หน้าตักกว้างประมาณ ๑ ศอก แต่ถูกพอกปูนเสียจนไม่เห็นศิลปะเดิม ส่วนคำว่า พระมหาโพธิ์ นั้น น่าจะหมายถึง พระมหาโพธิ์ที่ปลูกขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เพราะในจารึกมีคำว่าทาสคนหนึ่ง และ ดินที่ปลูกแล้ว เป็นความกระท่อนกระแท่นที่เกี่ยวกับพระศรีมหาโพธิ์ และทาสที่ปฏิบัติบำรุงพระศรีมหาโพธิ์ ทั้งในปัจจุบันนี้ยังมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เบื้องหน้าวัดมหาวัน ตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด อาจจะกล่าวได้ว่า โพธิ์ต้นนี้สืบเชื้อสายมาจากพระศรีมหาโพธิ์ ของพระนางจามเทวีที่ทรงปลูกไว้ ดังที่ในตำนาน และศิลาจารึกกล่าวถึง วัดมหาวันนี้ เป็นพระอารามที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ทั้งนี้มิใช่เรื่องอื่นใด นอกจากเพียงประการเดียวคือ เป็นแหล่งกำเนิดของพระรอด พระเครื่องชั้นยอดของบ้านเมืองเรา

++คำจารึกใต้ฐานพระรูปฤาษีในซุ้มทั้งสี่ของเจดีย์ฤาษี วัดพระคง ได้กล่าวข้อความไว้ดังต่อไปนี้++
-ด้านเหนือคือ สุเทวฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศเหนือ
-ด้านใต้คือ สุกกทันตาฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศใต้
-ด้านตะวันออกคือ สุพรหมฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันออก
-ด้านตะวันตกคือ สุมณนารทะฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันตก

“แสดงว่าพระฤาษีทั้งสี่ได้พร้อมใจกันสร้าง พระศักรพุทธปฏิมา สกุลลำพูนบรรจุไว้ในพระสถูปหรือกรุของจตุรพุทธปราการ ซึ้งพระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาขึ้น เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลพระนางเจ้า และข้อสำคัญก็คือ เพื่อเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร และจตุรพุทธปราการให้เรี่ยวแรงแข็งขอบยิ่งขึ้น เป็นอเนกประการ”

-พระสุเทวฤาษี ผู้สร้างพระคงเป็นผู้มาจากเบื้องทิศเหนือแห่งพระนคร คือมาจากอุฉุบรรพต (ดอยอ้อย) หรือดอยสุเทพ ริมฝั่งน้ำโรหิณีนที (ลำน้ำแม่ขาน) จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น จึงเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระศักรพุทธปฏิมาดังกล่าว บรรจุไว้ในสถูปแห่งอาพัทธาราม (วัดพระคง) เพื่อเป็นสิริสวัสดิรักษาแห่งทวารพระนครฝ่ายทิศเหนือ คือ ประตูช้างสี

-พระสุกกทันตฤาษี ผู้สร้างพระเลี่ยงและพระฦา ฯลฯ เป็นผู้มาจาริกมาจากเบื้องทิศใต้ของพระนครหริภุญไชย คือมาจากดอยธัมมิก (เขาสมอคอน) แห่งระวะปุระ(ละโว้) จึงเป็นพระอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทพระเครื่องสกุลลำพูนดังกล่าวไว้ ณ มหารัตตาราม (วัดประตูลี้) เพื่อเป็นอาถรรพณ์พุทธวัตถุอารักขา ทวารพระนครฝ่ายทางเบื้องใต้ คือ ประตูลี้

-พระสุพรหมฤาษี ผู้ประดิษฐาน พระบาง พระเปิม พระสาม พระแปด พระสิบสอง และพระเปื๋อย ฯลฯ ผู้มาจาริกจากเบื้องตะวันออกของพระมหานคร คือจากสุภบรรพต(ดอยงาม) ริมฝั่งน้ำวังกะนที(แม่น้ำวัง) เมืองนคร (ลำปางหลวง) จึงเป็นพระอาจารย์ผู้เนรมิตพระศักรพุทธปฏิมาดังกล่าวไว้ ณ กรุของอรัญญิกรัมมการาม (วัดดอกแก้ว) ปกป้องคุ้มครองทวารพระนครฝ่ายตะวันออก คือ ประตูท่าขุนนาง นั่นเทียว

-พระสุมณนารทะฤาษี ผู้สร้างพระรอด เป็นพระอาจารย์ผู้มาจากฝ่ายทิศตะวันตกของพระนคร คือจากชุหบรรพต(ดอยอินทนนท์) สานุมหาพน(มหาวัน) ป่าใหญ่เบื้องตะวันตกของหริภุญไชย จึงเป็นพระฤาษีผู้ประกอบปฏิมากรรมแห่งพระรอด บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์(เจดีย์หลวงมหาวัน)แห่งมหาวนาราม (วัดมหาวัน) เพื่อให้เป็นพลังอิทธิวัตถุอภิบาลทวารพระนครฝ่ายตะวันตก อันได้แก่ ประตูมหาวัน นั้น

-พระคง มีความหมายและคุณวิเศษในด้านความพัฒนาสถาพร ความมั่นคงแข็งแรง และความคงกระพันชาตรี คำว่า คง เป็นคำที่ถอดความหมายจากนามเดิมว่า อาพัทธ อันมีความหมายดังกล่าวส่วนนามพระสุเทวฤาษีผู้สร้างนั้น มีความหมายว่าฤาษีผู้เป็นเทพ หรือเทวะผู้ประเสริฐ อนึ่งเทวะนั้นหมายถึง ผู้เป็นอมร หรือ อมตะ กล่าวคือ หมายถึงผู้ชีวิตอันคงกระพัน ไม่รู้จักตาย

-พระเลี่ยง แม้จะมิได้มีความหมายของนามสืบเนื่องมาจากนามของพระสุกกทันต ฤาษีผู้สร้าง แต่มีความหมายตามนามของพระอาราม อันเป็นแหล่งกำเนิด และทวารด้านที่พระอารามประจำอยู่ กล่าวคือรัตตาราม(วัดประตูลี้) หมายถึงความหลีกลี้หนีเลี่ยงจากข้าศึกศัตรู เช่นเดียวกับนามของพระเครื่อง ชนิดนี้ที่มีว่า พระเลี่ยง ฉะนั้น

-พระฦา คำว่า ฦา นี้อาจมาจาก ฤา หรือฤาษี หรือมิฉะนั้นอาจมาจากคำว่า นาไลย์ อันเป็นนามของพระฤาษีสำคัญในไสยศาสตร์คู่กับพระฤาษีนารอท (ผู้สร้างพระรอด) กล่าวคือ พระสุกกทันตกฤาษี แปลว่า ฤาษีฟันขาว น่าจะเป็นนามฉายามากกว่าที่จะเป็นนามจริง เช่นเดียวกับคำว่า พุทธชฎิลฤาษี อันเป็นนามฉายาของพระฤาษีนารอด ซึ่งมีลักษณะนามบอกให้ทราบว่า เป็นฤาษี ผู้ขมวดมวยผมเป็นกระมุ่ม และคำว่า พุทธ นั้นบอกให้ทราบว่า พระฤาษีตนนี้มีนามเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง คือ พระนารทพุทธเจ้า มาเป็นพระนารทะ ดังนี้เป็นต้น

-พระเปิม คำว่า เปิม เข้าใจเพี้ยนมาจากคำว่า พรหม ซึ่งออกเสียงให้ถูกตามเลขจะเป็น พะระหะมะ กล้ำกันเร็วๆ เสียงจะกลายเป็น เพริม หรือ พรัม และเพี้ยนต่อไปเป็น เพิม และ เปิม ในที่สุด คำว่า พรหม ก็คือนามของ พระพรหมฤาษี ผู้สร้างพระเครื่องชนิดนี้นั่นเอง

-พระบาง คำว่า บาง อาจจะย่อมาจากคำว่าอาลัมพางค์ หรือลำปาง อันเป็นถิ่นพำนักของพระ สุพรหมฤาษี ผู้สร้างพระเครื่องชนิดนี้นานๆเข้าคำว่า อาลัมพางค์ ก็สั้นๆเข้ากลายเป็นบางไปในที่สุด

-พระรอด คำว่า รอด น่าจะเพี้ยนมาจาก รอท หรือ นารทะ อันเป็นนามของพระฤาษีนารอท หรือ พระนารทะฤาษี อย่างแน่นอนที่สุด ดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะสะกด หรือเขียนอย่างไร ก็จ
มีความหมายว่าแคล้วคลาดและปลอดภัย

++กำหนดอายุการสร้าง++
-ดังได้กล่าวแล้วว่า พระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาพระอารามทั้งสี่ คือ จตุรพุทธปราการ (วัดสี่มุมเมือง) ในปี พ.ศ. ๑๒๒๓ เมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ ๕๓ ชันษา และพระราชโอรสทั้งสองคือ เจ้าอนันตยศและเจ้ามหัตยศมีพระชนมายุ ๑๘ ชันษา และพระคณาจารย์อันได้แก่พระฤาษีทั้งสี่ ก็ประชุมพิธีสร้างพระศักรพุทธปฏิมาสกุลลำพูนขึ้น บรรจุไว้ในแต่ละแห่งของจตุรพุทธปราการเพราะฉะนั้น พระรอดและพระเครื่องสกุลลำพูน จึงได้รับการสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๒๒๓ นั่นเอง มีอายุการสร้างปัจจุบันนี้ ๒๕๔๘ ได้ ๑,๓๒๕ ปี นับว่าเป็นพระเครื่องที่เก่าแก่ หรือมีอาวุโสสูงที่สุดในบรรดาพระเครื่องทั้งหลาย


วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติการสร้างพระเปิมลำพูน

ประวัติการสร้างพระเปิมลำพูน

พระเปิมเป็นพระเนื้อดินที่สร้างมาในยุคสมัยเดียวกับพระรอด พระคง พระบาง พระเลี่ยง ฯลฯ ครับ มูลเหตุการสร้างก็ต้องเล่าเรื่องเมืองหริภุญชัย และพระนางจามเทวีแบบคร่าวๆ ครับ คืออย่างนี้ครับ จากพงศาวดารโยนก จามเทวีวงศ์ ชินกาลมลินี และตำนานมูลศาสนา พอจะสรุปได้ดังนี้ว่า มีพระฤๅษี 5 ตน คือพระสุเทวฤๅษี พระสุกกทันตฤๅษี พระ สุพรหมฤๅษี พระนารทะฤๅษี ซึ่งเป็นคณาจารย์ของหริภุญชัย และเป็นผู้สร้างพระศักรพุทธปฏิมาสกุลลำพูน นอกจากนี้ ยังมีพระ อนุสิษฏฤๅษี ซึ่งพำนักอยู่ ณ เขาลตางค์ (เขาหลวงเมืองสวรรคโลก) พระฤๅษีตนนี้ไม่ได้มีส่วนในการสร้างพระศักรพุทธปฏิมาสกุลลำพูน แต่ได้มอบกาบ ฝาหอยมาเป็นผังในการสร้างเมืองหริภุญชัย ได้ปรึกษากันในการสร้างเมืองหริภุญชัยประวัติการสร้างพระเปิมลำพูน

เมื่อสร้างเมืองหริภุญชัยเสร็จแล้ว จึงให้นายควิยะบุรุษ ไปเป็นทูตทูลขอพระนาง จามเทวีพระราชธิดาพระเจ้ากรุงละวะปุระ (ลพบุรี) อันเป็นกุลสตรีที่ประเสริฐ เจริญด้วยศีลและปรีชาฉลาดมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย โดยพระนางจามเทวีได้ทูล ขอ พระราชทานพระไตรปิฎก สมณะ ชีพราหมณา จารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ โหราจารย์ แพทย์ สถาปัตยกร วิศวกร นักประติมากรรม และเศรษฐวาณิช อย่างละ 500 พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค บริวาร หมู่โยธาพลากร พร้อมด้วยพาหนะครบถ้วนเดินทางมายังเมืองหริภุญชัย

เมื่อพระนางทรงมาถึงเมืองหริภุญชัย พระฤๅษีทั้ง 4 ตนก็ได้ป่าวร้องให้ชาวเมืองออกมารับเสด็จพระนางเข้าเมือง และพอถึง ปี พ.ศ.1223 พระนางจามเวทีจึงทรงให้สร้างจตุรพุทธปราการขึ้นเป็นพระอารามสำคัญทั้ง 4 ประจำจตุรทิศแห่งพระนคร เพื่อปกป้องคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสถาพร ปราศจากภัยพิบัติ ดังนี้ประวัติการสร้างพระเปิมลำพูน

อาพัทธาราม (วัดพระคง) เป็นพุทธปราการประจำฝ่ายทิศเหนือ พระกรุสำคัญที่พบคือ พระคงและพระบาง

อรัญญิกรัมมการาม (วัดดอนแก้ว) เป็นพุทธปราการปกป้องฝ่ายทิศตะวันออก พบ พระกรุที่สำคัญคือพระเปิมและพระบาง ฯลฯ

มหาสัตตาราม (วัดประตูลี้) เป็นพุทธปราการคุ้มครองด้านทิศใต้ พบกรุที่สำคัญคือพระเลี่ยง ฯลฯ

มหาวนาราม (วัดมหาวัน) เป็นพุทธปราการอารักขาทางฝ่ายทิศตะวันตก พบ พระกรุที่สำคัญคือพระรอด

พระอารามทั้งสี่นี้ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดสี่มุมเมือง"
ประวัติการสร้างพระเปิมลำพูน